
ผีนางสิบสอง ( ผีคุ้มเมือง )
บริวารปู่จ้าวสมิงพราย
“ชาวเมืองสอง เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง”
สมัยที่เรายังเรียนหนังสือในชั้นมัธยม ในเวลาพักเที่ยงครูประจำชั้นจะเล่านิทานให้พวกเด็กนักเรียนฟัง ซึ่งมีนิทานอยู่หลายเรื่องด้วยกัน แต่มีนิทานอยู่เรื่องหนึ่งที่สนุกมาก ฟังกี่ครั้งก็ไม่เบื่อ นิทานเรื่องนั้นคือนางสิบสองหรือพระรถเมรี
“ตำนานนางสิบสอง” ซึ่งเป็นนิทานพื้นบ้านของ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ชาวเมืองสองเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง จึงได้สร้าง “ศาลเจ้าแม่นางสิบสอง” เพื่อเป็นที่อยู่ของดวงวิญญาณนางสิบสอง ความสำคัญของเจ้าแม่นางสิบสองมีความเกี่ยวพันกับเรื่องของพระลอซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองเมืองสรวงกับพระเพื่อนพระแพง พระราชธิดาของเมืองสรวงโดยมีนางรื่นนางโรย 2 พี่เลี้ยงของพระเพื่อนพระแพง ได้นำความสง่างามของพระลอ ขับร้องเพลงมาเล่าให้พระเพื่อนพระแพงฟัง
เมื่อได้ฟังคำสรรเสริญเยินยอ พระเพื่อนพระแพงเกิดความหลงใหล ใฝ่ฝันอยากเห็นตัวจริงของพระลอจึงได้ให้เจ้าปู่สมิงพรายทำเสน่ห์ กว่าจะทำเสน่ห์ได้สำเร็จจำต้องใช้ผีของเมืองสอง คือ ผีนางสิบสอง ซึ่งเป็นผีกลุ่มหนึ่งและเป็นบริวารของปู่เจ้าสมิงพราย
จากการบอกเล่าของชาวเมืองสวงตั้งแต่อดีตกาลมาจนถึงปัจจุบันที่มีความเชื่อในเรื่องผีและวิญญาณมักจะบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ในเขตอำเภอสองจะมีผีนางปกปักษ์รักษาอาณาเขต ชายหนุ่มที่มีรูปงามมาจากต่างถิ่นมักจะถูกผีนางสิบสองตนใดตนหนึ่งหมายปองเอาไปเป็นคู่ โดยเฉพาะชายที่ใช้ผ้าขาวม้าสีแดง
ชายใดที่ถูกผีนางสิบสองหมายปองก็จะมีอาการละเมอเพ้อฝัน เห็นภาพหลอนจนถึงกับล้มป่วย หากไม่รีบรักษาทางไสยศาสตร์ก็จะเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว คนโบราณได้อธิบายถึงวิธีแก้มนต์สะกดคือจะต้องใช้หมอผีที่มีวิชาอาคมจริงๆ โดยหมอผีจะทำพิธีแลกหุ่น คือ จะปั้นดินเหนียวเป็นรูปคนและรดน้ำมนต์ปลุกเสกอาคม ผู้ป่วยก็จะหายจากอาการดังกล่าว
คนโบราณยังได้อธิบายคำว่านางหมายถึงนางไม้หรือผีผู้หญิงที่สิงตามต้นไม้บางคนเรียก “พายไม้” ดังนั้นคำว่า “นาง” จึงมิได้หมายถึงผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว แต่เป็นวิญญาณของผู้หญิงที่สิ่งตามต้นไม้และป่าเขาลำเนาไพร
คนดูแลศาลฯ ได้บอกกับผู้เขียนว่าคนทรงเจ้าหรือร่างทรงที่ชาวเมืองสองเชื่อถือมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันกล่าวว่า ผีนางของเมืองสองเป็นบริวารของปู่เจ้าสมิงพรายซึ่งมีจำนวนถึง 101 นางและในจำนวน 101 นาง จะมีผีในระดับหัวหน้าจำนวน 12 นางมีชื่อดังนี้ 1.บัวลม 2.บัวลอย 3.เกี๋ยงคำ 4.สีบัวตอง 5.คำเฮียว 6.คำเครือ 7.บัวเขียว 8.คำปวน 9.จุ๋มป๋าทอง 10.จุ๋มป๋าเหลือง 11.สีปูเลย 12.สีจมปูคำ โดยปู่เจ้าสมิงพรายได้มอบหมายให้นางทั้ง 12 ดูแลและพำนักรักษาตัวเมืองสอง ส่วนนางที่เหลืออีก 89 นางให้แยกย้ายไปรักษาป่าบริเวณลำน้ำยมและลำน้ำสอง ถ้าใครเข้าไปในป่าแม่สองหากเผลอพูดหรือทำในสิ่งที่ไม่ดี ทำผิดกฎของป่าแล้วมักจะมีอันเป็นไปต่างๆนานาซึ่งเราเรียกว่า “ผิดผี” จนเป็นที่หวาดกลัวของผู้คนเป็นอันมาก จากคำบอกเล่าของผู้ที่เคยประสบเหตุทั้งในอดีตและปัจจุบันเล่าว่า จะพบภาพนิมิตหรือภาพหลอนเกี่ยวกับผู้หญิงในบริเวณสามแยกป้ายชื่อเมืองสองอยู่เสมอ โดยเฉพาะมีคำเล่าขานก่อนนี้เมื่อถึงวันเพ็ญพระจันทร์เต็มดวงก็จะมีผีนางทั้งสิบสองพร้อมกับบริวารออกมาเต้นระบำรำฟ้อน
ขณะเดียวกันจะได้ยินเสียงขับขานผสมผสานกับเสียงดนตรีพื้นเมืองบรรเลงแว่วมาตามสายลมโดยไม่ทราบว่าเสียงนั้นมาจากทางทิศไหน และสถานที่แห่งนี้เรียกว่า “เด่นนางฟ้อน” ต่อมาชาวบ้านได้แห้วถางบุกเบิกทำเป็นนาข้าวและเรียกย่านนี้ว่า “ทุ่งเด่น” คือ (บริเวณที่ตั้งศาลเจ้าแม่นางสิบสองในปัจจุบัน)
ในตำนานได้กล่าวถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งชาวเมืองสองมีความเคารพบูชาคือ “เจ้าแม่นางสิบสอง” ซึ่งสิงสถิตอยู่ภายในศาลไม้หลังเล็กๆ เมื่อชาวเมืองสองมีเรื่องทุกข์ร้อนก็จะไปบนบานศาลกล่าว จนกระทั่งปัจจุบันนี้ความเคารพศรัทธาของผู้คนที่มีต่อเจ้าแม่นางสิบสองก็ยังคงมีอยู่
เครื่องสักการะบูชาเจ้าแม่นางสิบสอง
– ดอกไม้สด พวงมาลัยดอกดาวเรือง (บนขอโชคลาภสามพวงบนขอเรื่องอื่นๆ 5 พวง)
– ผลไม้ชนิดต่างๆที่นิยม คือ กล้วยน้ำว้า ส้ม ขนุน (ควรวางบนใบมะยม)
– เสื้อผ้าชุดไทย สีเขียว น้ำหอม เครื่องประดับสตรี
สถานที่ตั้งของศาลเจ้าแม่นางสิบสอง
จากตัวจังหวัดแพร่ไปอำเภอสองระยะทางประมาณ 48 กิโลเมตรก่อนจะเข้าตัวอำเภอสองต้องเลี้ยวขวา ศาลอยู่ทางฝั่งซ้ายของถนนถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ “คู่บ้านคู่เมือง” ของชาวอำเภอสอง
